ในการทำธุรกิจออนไลน์นั้น ร้านค้าต่างก็มีวิธีบริหารจัดการสินค้า การหาสินค้า สั่งซื้อสินค้า และส่งสินค้าหลากหลายวิธีแตกต่างกันไปตามข้อจำกัดของแต่ละร้าน
ตัวอย่างเช่น ร้านที่ขายสินค้าแบบพรีออเดอร์ อาจจะขายสินค้าที่มีราคาสูง ไม่มีความต้องการในปริมาณมากหรือเป็นสินค้าที่ค่อนข้างเฉพาะตัว หาซื้อยาก ต้องสั่งผลิต หรือไปซื้อเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ร้านค้าประเภทนี้จะสต๊อกสินค้าไว้น้อยมากหรือแทบจะไม่สต๊อกเลย
ส่วนร้านค้าที่ขายสินค้าพร้อมส่งนั้น ส่วนใหญ่ขายสินค้าที่คนนิยม มีสินค้าที่ผลิตหรือสั่งซื้อไว้รอขายอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีของการขายสินค้าพร้อมส่งนั้น คือ โอกาสที่ลูกค้าจะกดสั่งซื้อสินค้ามีสูงกว่า เพราะลูกค้าต่างต้องการใช้สินค้าในเวลาอันรวดเร็ว หากร้านค้าสามารถจัดส่งสินค้าได้ทันที ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และด้วยการส่งของได้เร็วตามเวลาหรือเร็วกว่าเวลาที่แจ้งนั้น ยิ่งสร้างความประทับใจ ความพึงพอใจและโอกาสในการกลับมาซื้อสินค้าที่ร้านเรามากขึ้นด้วย
4 สิ่งควรรู้
1.รู้จักลูกค้า
รู้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ต้องการสินค้าอะไรเพื่อมาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของเขา เพื่อให้เราสามารถลงทุนนำสินค้ามาขายได้อย่างตรงจุด
2.รู้จักตัวเอง
มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ รู้ศักยภาพของตนเองในการทำธุรกิจ เช่น จำนวนเงินลงทุนที่สามารถนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ จำนวนพนักงานและความเร็วในการจัดการงานต่างๆ ตั้งแต่ลงสินค้า รับรายการสั่งซื้อ ส่งสินค้า ไปจนถึงการให้บริการต่างๆ กับลูกค้า
3.รู้จักสินค้า
ทำการประเมินการขายสินค้าแต่ละประเภทว่ามีเทรนด์หรือแนวโน้มที่จะขายดี หรือสินค้าตัวไหนที่คนเริ่มไม่นิยมแล้ว จากนั้นทำการวิเคราะห์และวางแผนการเพิ่มสต๊อกสินค้าเดิมที่ยังขายดีอยู่ และการนำสินค้าใหม่มาขาย เพื่อให้ร้านค้าสามารถเพิ่มรายได้ มีกำไร สามารถระบายสินค้าออกขายได้ดีขึ้น และลดความเสียหายของสินค้าค้างสต๊อกที่เป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงได้
4.รู้จักตลาด
ศึกษาตลาด เรียนรู้คู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ และทำการสำรวจราคาสินค้าที่ร้านอื่นๆ ขายเหมือนเรา หากในตลาดมีการลดราคาสินค้าที่ใกล้ราคาต้นทุนมากแล้ว ร้านค้าอาจจะต้องชะลอการสั่งซื้อสินค้าประเภทนั้นเข้ามาขายและระบายของออกให้เร็ว เพราะร้านค้าจะได้กำไรน้อยลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุนได้
8 วิธีจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ
1.แยกประเภทสินค้าด้วยรหัสสินค้า
ทำการแยกประเภทสินค้าด้วยรหัสสินค้าและติดป้าย Label หรือ Barcode (ถ้ามี)ให้กับสินค้าทุกชิ้น และทำการอ้างอิงให้ตรงกับรายการสินค้าที่ลงขายในร้านค้าออนไลน์
2.แยกประเภทสินค้าด้วยความเร็วในการขาย
แยกประเภทสินค้าที่ขายเร็ว-ช้าออกจากกัน และจัดให้สินค้าขายเร็ว อยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สะดวกในการนำสินค้ามาบรรจุหีบห่อ
3.จัดการ Stock Keeping Unit (SKU)
กำหนด Stock Keeping Unit (SKU) ให้กับสินค้าที่ขายให้มีความแตกต่างกันชัดเจน เพื่อความสะดวกสำหรับคนจัดสินค้าให้สามารถจัดสินค้าที่ผู้ซื้อสั่งได้ถูกต้องตรงตามรายการสั่งซื้อ และช่วยให้การจัดการสต๊อคในระบบหลังร้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.กำหนดจำนวนสินค้าในคลัง
ระบุจำนวนสินค้าแต่ละประเภทที่มีในคลังสินค้าจริง โดยส่วนใหญ่ร้านค้าจะสามารถจัดส่งสินค้าที่มีในคลังได้รวดเร็ว จึงทำให้ร้านสามารถกำหนดระยะเวลาเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่งในระบบได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าเร็ว
5.รู้ระยะเวลาจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิต
กำหนดระยะเวลาในการสั่งสินค้าแต่ละตัว ในกรณีมีรายการสั่งซื้อเข้ามาเกินจำนวนสินค้าในคลังจริง และยังมีความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ร้านค้าสามารถปรับเพิ่มจำนวนสินค้าในคลังที่ระบบหลังร้าน เพื่อให้ลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อได้ แต่ควรปรับเพิ่มระยะเวลาเตรียมสินค้าเพื่อจัดส่งให้สอดคล้องกับวันที่สินค้าจากผู้ผลิตจะมาส่งที่ร้านค้า เพื่อไม่ให้การจัดส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อเกิดความล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งอาจทำให้ผู้ซื้อขอคืนเงินหรือให้คะแนนความพึงพอใจในระดับต่ำได้
6.จัดระเบียบให้กับสถานที่เก็บสินค้า
6.1 ทำรายการสถานที่เก็บสินค้าทุกชิ้น เช่น สถานที่ตั้งคลังสินค้า เลขที่ชั้นวางสินค้า
6.2 ทำป้ายกำกับชั้นวางสินค้า โดยมีเลขที่ชั้นวางสินค้ากำกับในทุกชั้น
6.3 ทำรายการสินค้าทั้งหมดที่วางอยู่ในชั้นวางสินค้าแต่ละชั้นพร้อมบอกจำนวนชิ้นทั้งหมด
6.4 หากมีการนำสินค้าออกจากชั้นวาง ให้ทำการหักจำนวนสินค้าออกจากรายการที่หน้าชั้นวางและหักจากรายการสินค้าที่บันทึกไว้ด้วย เพื่อการตรวจสอบสต๊อกสินค้าในภายหลัง
7.ตรวจสอบคลังสินค้าประจำ
ร้านค้าควรกำหนดวันที่ต้องเช็คสต๊อก เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน เพื่อเป็นการตรวจสอบจำนวนสินค้าคงคลัง เปรียบเทียบกับจำนวนสินค้าที่ขายได้ และนำมาคำนวณยอดรายได้ กำไร และวางแผนการสั่งซื้อสินค้าต่อไป
8.เตรียมกล่องพัสดุล่วงหน้า
จัดซื้อกล่องพัสดุสำหรับส่งสินค้าไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การบรรจุและจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ร้านค้าควรเตรียมกล่องในหลายขนาดที่เพียงพอในการบรรจุสินค้าชิ้นเดียว และหลายชิ้นใน 1 รายการสั่งซื้อ โดยทำการประเมินจากรายการสั่งซื้อที่เคยเกิดขึ้น แต่อย่าเผื่อกล่องหลายขนาดเกินไป เพราะร้านค้าต้องลงทุนซื้อกล่องด้วยเงินสดล่วงหน้า หากซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็จะทำให้ต้นทุนจมอยู่ที่จุดนี้มากไป